อาการเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูก

ป้ายกำกับ: , , ,

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของมะเร็งปากมดลูกทำอย่างไร? ลักษณะอาการเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไร หาคำตอบได้ที่บทความนี้ ปัจจุบันการรักษามะเร็งปากมดลูกได้ผลดีมากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในระยะก่อนลุกลามและระยะลุกลามเริ่มแรก โดยในระยะก่อนลุกลามการรักษาได้ผลดีเกือบ100 % ดังนั้นการตรวจค้นหามะเร็งในระยะแรกเริ่มจึงมีความสำคัญมาก โดยสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วควรรับการตรวจภายในทุกคน 

อาการเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูก

ลักษณะอาการเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูก

อาการที่อาจจะพบในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นพบว่า อาจจะพบในผู้ป่วยโรคอื่นได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จึงควรที่จะไปปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด
อาการที่อาจจะพบในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกได้แก่
  • การมีเลือดออกทางช่องคลอด (การตกเลือดทางช่องคลอด) 
  • การมีสารคัดหลั่งผิดปกติออกจากช่องคลอด เช่น ตกขาว 
  • อาการปวดท้องน้อย 
  • อาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ 
  • เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ 
  • เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน 
อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น ได้แก่
  • ขาบวม 
  • ปวดหลังรุนแรง ปวดก้นกบและต้นขา 
  • ปัสสาวะเป็นเลือด 
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด 
หากพบว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองหรือการตรวจวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกต่อไป เพราะถ้าตรวจพบมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะแรกๆ จะมีโอกาสในการหายจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า

สำหรับวิธีวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกอ่านที่บทความ : การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก 

ที่มา: [1] http://medinfo2.psu.ac.th
          [2] http://www.chulacancer.net


การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก (Diagnosing cervical cancer)

ป้ายกำกับ: ,

สำหรับบทความนี้จะพูดถึงวิธีวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก (Diagnosing cervical cancer) เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ มะเร็งปากมดลูกระยะแรกๆ นั้นอาจจะไม่มีอาการหรืออาการแสดงใดๆเลยก็ได้ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจเช็คมะเร็ง ปากมดลูกทุกปีเพราะถ้าตรวจพบมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะแรกๆ จะมีโอกาสในการหายจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า

วิธีวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก

การตรวจที่สามารถวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกได้ ได้แก่

1. การตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกโดยการทำแป๊บ ( Pap smear ) 
เป็นการเก็บเซลล์จากบริเวณพื้นผิวของปากมดลูกและช่องคลอดโดยใช้สำลีพันปลายไม้ แปรง หรือ แท่งไม้เล็กๆ ขูดเบาๆบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดแล้วป้ายลงบนแผ่นสไลด์จากนั้น แพทย์จะส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูเซลล์ดังกล่าว และหาความผิดปกติของเซลล์เหล่านั้น การตรวจวิธีนี้ เรียกว่า การตรวจแป๊บ ( Pap test )

2. การตรวจคอลโปสโคป ( Colposcopy ) 
เป็นการตรวจปากมดลูกและช่องคลอดโดยการส่องกล้องขยาย ตรวจหาบริเวณที่ผิดปกติจากนั้นอาจจะมีการเก็บเนื้อเยื่อไปตรวจโดยการใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายช้อนเล็กๆขูดบริเวณที่ผิดปกติ แล้วนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาความผิดปกติต่อไป 

Colposcopy มะเร็งปากมดลูก
Colposcopy
3. การตัดชิ้นเนื้อ ( Biopsy ) 
เป็นการตัดชิ้นส่วนเล็กๆของเนื้อเยื่อออกมาจากปากมดลูกที่ผิดปกติ จากนั้นพยาธิแพทย์จะนำมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง โดยปกติจะทำการตัดชิ้นเนื้อเมื่อมีการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกโดยการทำแป๊บแล้วผิดปกติ การตัดชิ้นเนื้อในบางรายอาจทำเป็นการตัดชิ้นเนื้อรูปโคน ( Cone biopsy ) ซึ่งจะได้ชิ้นเนื้อจากปากมดลูกขนาดใหญ่กว่า

4. การตรวจภายใน (Pelvic exam)
เป็นการตรวจช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และทวารหนัก โดยการใช้นิ้วมือหนึ่งหรือสองนิ้วของมือข้างหนึ่งใส่ถุงมือและหล่อลื่นด้วยน้ำยาหล่อลื่นสอดเข้าในช่องคลอด และวางมืออีกข้างหนึ่งที่บริเวณท้องน้อยของผู้ป่วยเพื่อจะได้รู้ถึงขนาด รูปร่าง และตำแหน่งของมดลูกและรังไข่และยังมีการตรวจอีกอย่างหนึ่ง คือการใช้เครื่องมือซึ่งเรียกว่า สเปคคูลัม (Speculum) ซึ่งเป็นเหล็กที่มีรูปร่างคล้ายปากเป็ด สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดูความผิดปกติของช่องคลอดและปากมดลูก โดยอาจจะทำการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก โดยการทำแป๊บในขณะใส่เครื่องมือนี้ด้วย นอกจากนี้อาจจะมีการตรวจทางทวารหนัก โดยการใช้นิ้วมือซึ่งใส่ถุงมือและหล่อลื่นแล้ว สอดเข้าในทวารหนัก เพื่อตรวจหาก้อนหรือบริเวณที่ผิดปกติได้

5. การขูดเนื้อเยื่อบริเวณด้านในของปากมดลูก (Endocervical curettage)
เป็นการใช้อุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้อนอันเล็กๆ ขูดเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่อยู่ในรูของปากมดลูก จากนั้นเนื้อเยื่อตัวอย่างที่ได้จากการขูดออกมานั้นจะถูกส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์มะเร็งการขูดมดลูกนี้ ในบางครั้งอาจทำพร้อมกันกับการตรวจคอลโปสโคปด้วย
Cone biopsy
Cone biopsy 

สำหรับการเตรียมตัวก่อนรับการตรวจค้นหามะเร็งในระยะแรกด้วยการตรวจแปปสเมียร์
  • ไม่ควรมีการตรวจภายในมาก่อน 24 ชั่วโมง 
  • ห้ามสวนล้างภายในช่องคลอดมาก่อน 24 ชั่วโมง 
  • งดการมีเพศสัมพันธ์คืนวันก่อนมารับการตรวจภายใน 
  • ไม่ควรเหน็บยาใด ๆ ในช่องคลอดมาก่อน 48 ชั่วโมง 
  • ควรมารับการตรวจมะเร็งหลังประจำเดือนหมดแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่ไม่มีประจำเดือนแล้วให้มาได้ตามสะดวก


การตรวจหากระจายของมะเร็งปากมดลูก (Staging Tests for Cervical Cancer)

ป้ายกำกับ: , ,

บทความนี้จะพูดถึงเรื่องการตรวจสอบหาการกระจายของโรคมะเร็งปากมดลูก (Staging Tests for Cervical Cancer) กล่าวคือ หลังจากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว แพทย์จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่าเซลล์มะเร็งกระจายไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่ ข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจเพิ่มเติมจะนำมาใช้ประกอบการจำแนกระยะของโรคได้ เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาต่อไป

การตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่ามะเร็งอยู่เฉพาะในปากมดลูกหรือกระจายไปส่วนอื่นๆของร่างกายนั้น ได้แก่

1. การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ปอด ( Chest X-Ray )

เป็นการเอ็กซเรย์ของอวัยวะที่อยู่ในช่องอก เช่น ปอด หัวใจ และกระดูกเป็นต้น การเอ็กซเรย์ คือ การส่งลำพลังงาน ชนิดหนึ่งผ่านร่างกายของคนไปตกลงบนฟิล์ม ทำให้เกิดรูปภาพของอวัยวะต่างๆของร่างกาย

2. การถ่ายเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) 
เป็นการสร้างชุดของภาพที่มีรายละเอียดของอวัยวะต่างๆของร่างกาย ซึ่งถูกถ่ายมาจากมุมที่แตกต่างกัน รูปภาพที่ได้มานั้นถูกสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ซึ่งเชื่อมต่อกับเครื่องเอ็กซเรย์ นอกจากนี้อาจมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือดดำหรือกลืนสารทึบรังสีเพื่อช่วยในการมองดูภาพของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

3. การถ่ายภาพระบบน้ำเหลือง ( Lymphangiogram ) 
เป็นการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ของระบบน้ำเหลือง โดยจะมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดน้ำเหลืองที่เท้า แล้วสารทึบรังสีนั้นจะเคลื่อนที่ขึ้นผ่านต่อมน้ำเหลืองและหลอดน้ำเหลืองต่างๆ และจากนั้นก็จะมีการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ภาพที่ได้จะบอกถึงการอุดกั้นของระบบน้ำเหลือง ซึ่งจะบอกได้ว่ามะเร็งกระจายไปยังที่ต่อมน้ำเหลืองใดบ้าง

4. การผ่าตัดเพื่อประเมินระยะของโรคก่อนการรักษา (Pretreatment surgical staging)
เป็นการผ่าตัดเพื่อหาว่ามะเร็งนั้นอยู่เฉพาะที่ปากมดลูกหรือกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายในบางรายมะเร็งปากมดลูกอาจถูกตัดออกไปทั้งหมดในขณะเดียวกันนี้ ด้วยการผ่าตัด เพื่อประเมินระยะของโรคนี้มักจะทำในส่วนหนึ่งของการทดลองเท่านั้น

5. การตรวจอัลตราซาวน์ ( Ultrasound exam ) 
เป็นการตรวจที่ใช้เสียงที่มีพลังงานสูงผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะภายใน จากนั้นจึงมีการสร้างออกมาเป็นภาพการถ่ายภาพจากการสั่นพ้องพลังแม่เหล็ก หรือ เอ็ม อาร์ ไอ ( MRI ) เป็นการใช้แม่เหล็ก คลื่นวิทยุ และคอมพิวเตอร์ในการสร้างชุดของรายละเอียดของภาพของร่างกาย

ผลของการตรวจต่างๆจะถูกนำมาแปลผลร่วมกับผลของการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อจะบอกถึงระยะของมะเร็งปากมดลูก 
CT scan
การกระจายของมะเร็งปากมดลูกนั้นมี 3 วิธี

การกระจายของมะเร็งปากมดลูกไปสู่ส่วนอื่นๆของร่างกายมี 3 วิธี คือ

1.กระจายผ่านเนื้อเยื่อ มะเร็งจะลุกลามเข้าไปในเนื้อเยื่อปกติที่อยู่รอบๆ

2.กระจายผ่านระบบน้ำเหลือง มะเร็งจะลุกลามเข้าในระบบน้ำเหลืองแล้วจากนั้นจะเคลื่อนที่ผ่านหลอดน้ำเหลืองไปสู่ส่วนอื่นๆของร่างกาย

3.กระจายผ่านระบบเลือด มะเร็งจะลุกลามเข้าไปในเส้นเลือดดำและเส้นเลือดฝอย แล้วจากนั้นจะเคลื่อนที่ผ่านเส้นเลือดไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

เมื่อเซลล์มะเร็งกระจายจากก้อนมะเร็งต้นกำเนิดผ่านไปทางหลอดน้ำเหลือง หรือเส้นเลือดต่างๆ ไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายนั้น อาจจะเกิดการสร้างตัวเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมาใหม่ในที่อื่นๆ การกระจายของก้อนมะเร็งดังกล่าวนั้น เรียกว่า เมแทสเตสิส ( metastasis ) หรือ การกระจายของมะเร็ง ก้อนมะเร็งที่กระจายนั้นจะมีเซลล์ชนิดเดียวกันกับมะเร็งต้นกำเนิด ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามะเร็งเต้านมกระจายไปยังกระดูก เซลล์มะเร็งที่พบที่กระดูกจะเป็นเซลล์มะเร็งเต้านม ไม่ใช่มะเร็งของกระดูก

ที่มา: www.chulacancer.net/


ระยะของมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง (Stages of cervical cancer)

ป้ายกำกับ: ,

บทความนี้นำเสนอระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก (Stages of cervical cancer) ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่ฆ่าชีวิตผู้หญิงไทยจำนวนมากในแต่ละปี ดังนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระยะต่างๆ ของโรคมะเร็งปากมดลูกนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตัวผู้ป่วยเอง

ระยะของมะเร็งปากมดลูกแบ่งได้ดังนี้

ระยะที่ 0 ( พบเซลล์ผิดปกติแต่ไม่ใช่มะเร็ง – Carcinoma in situ )

ระยะที่ 0 คือการตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณผิวนอกสุดของปากมดลูกโดยยังไม่ใช่เซลล์มะเร็ง แต่เซลล์ผิดปกตินี้อาจจะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ในเวลาถัดมาและอาจกระจายไปยังเนื้อเยื่อปกติบริเวณนั้นได้ ระยะที่ 0 เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Carcinoma in situ

ระยะที่ 1

ระยะที่ 1 คือการตรวจพบมะเร็งอยู่ในปากมดลูกเท่านั้น ในระยะที่ 1 นี้แบ่งออกเป็น ระยะ 1 เอ (1A) และ ระยะ 1 บี (1B) ซึ่งแบ่งโดยขนาดของมะเร็งที่ตรวจพบ

ระยะ 1A เป็นระยะที่พบมะเร็งน้อยมาก สามารถเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น ระยะนี้ยังสามารถแบ่งออกเป็นระยะ 1 เอ 1 (1A1) และระยะ 1 เอ 2 (1A2) โดยแบ่งจากขนาดของมะเร็ง

ระยะ 1A1 เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งที่มีความลึกน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 มิลลิเมตร และ ความกว้างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 7 มิลลิเมตร

ระยะ 1A2 เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งที่มีความลึกมากกว่า 3 มิลลิเมตร แต่ไม่มากกว่า 5 มิลลิเมตร และ ความกว้างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 7 มิลลิเมตร

ระยะ 1B เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งที่มีความลึกมากกว่า 5 มิลลิเมตร หรือ ความกว้างมากกว่า 7 มิลลิเมตร หรือสามารถมองเห็นมะเร็งได้ด้วยตาเปล่า โดยมะเร็งจะยังคงอยู่ในปากมดลูกเท่านั้น ระยะนี้สามารถแบ่งออกเป็น ระยะ 1 บี 1 (1B1) และระยะ 1 บี 2 (1B2) โดยแบ่งจากขนาดของมะเร็ง

ระยะ 1B1 เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับ 4 เซนติเมตร

ระยะ 1B2 เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งขนาดใหญ่กว่า 4 เซนติเมตร

ระยะ 1A มะเร็งปากมดลูก
ระยะ 1A 

ระยะ 1B
ระยะ 1B

ระยะที่ 2 

ระยะที่ 2 คือการตรวจพบมะเร็งกระจายออกไปจากปากมดลูกแล้วแต่ยังไม่ถึงเนื้อเยื่อของผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน ( pelvic wall ) หรือมีการกระจายไปยังช่องคลอดแล้วแต่ยังไม่ถึงหนึ่งในสามส่วนล่างของช่องคลอด ระยะที่ 2 นี้ยังแบ่งออกเป็น ระยะ 2 เอ (2A) และ 2 บี (2B) ซึ่งแบ่งโดยความไกลในการกระจายของมะเร็ง 

ระยะ 2A เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูกไปยังสองในสามส่วนบนของช่องคลอด แต่ยังไม่มีการกระจายเข้าไปในเนื้อเยื่อข้างตัวมดลูก 

ระยะ 2B เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูกไปยังเนื้อเยื่อข้างตัวมดลูก 
ระยะ 2A
ระยะ 2A

ระยะ 2B
ระยะที่ 3

ระยะที่ 3 คือการตรวจพบว่ามะเร็งกระจายออกไปยังหนึ่งในสามส่วนล่างของช่องคลอด โดยอาจจะมีการกระจายไปยังผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน และ/หรือ ทำให้ไตทำงานได้แย่ลง ในระยะที่ 3 นี้แบ่งออกเป็น ระยะ 3 เอ (3A) และ ระยะ 3 บี (3B) ซึ่งแบ่งโดย ความไกลในการกระจายของมะเร็ง

ระยะ 3A เป็นระยะที่มะเร็งกระจายไปยังหนึ่งในสามส่วนล่างของช่องคลอด แต่ยังไม่มีการกระจายไปยังผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน

ระยะ 3B เป็นระยะที่มะเร็งกระจายไปยังผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน และ/หรือ มะเร็งขยายตัวไปกดบริเวณท่อไต (Ureter) ทำให้เกิดการอุดตันของระบบปัสสาวะทำให้ไตมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือทำงานได้แย่ลง ในระยะนี้อาจจะพบว่า เซลล์มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ภายในอุ้งเชิงกราน 

ระยะ 3A

ระยะ 3B
ระยะที่ 4

ระยะที่ 4 คือการตรวจพบว่ามะเร็งกระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก หรือส่วนอื่นๆของร่างกาย ในระยะนี้จะแบ่งออก เป็นระยะ 4 เอ (4A) และ ระยะ 4 บี (4B) ซึ่งแบ่งจากตำแหน่งที่มะเร็งกระจาย

ระยะ 4A เป็นระยะที่มะเร็งกระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะหรือทวารหนัก

ระยะ 4B เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกจากอุ้งเชิงกราน ไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่น ช่องท้อง ตับ ลำไส้ หรือปอด เป็นต้น

ระยะ 4A มะเร็งปากมดลูก
ระยะ 4A

ระยะ 4B

เรียบเรียงโดย: http://cervicalcancerthai.blogspot.com/
ที่มา :  [1] http://cancerhelp.cancerresearchuk.org
           [2] www.chulacancer.net


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก

ป้ายกำกับ: , , ,

มะเร็งปากมดลูก (Cancer of Cervix) เป็นมะเร็งที่พบมากในผู้หญิงช่วงอายุ 35-60 ปี  มะเร็งปากมดลูกยังเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิง สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกมีหลายสาเหตุ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญกับเรื่องของมะเร็งชนิดนี้ โดยเฉพาะควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเอาไว้ก่อน ดังคำกล่าวที่ว่า กันไว้ดีกว่าแก้!  ครับ
มะเร็งปากมดลูก 


สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน มีปัจจัยหลายอย่างที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งปากมดลูก เช่น การมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่อายุยังน้อย, มีบุตรมาก, มีประวัติเป็นกามโรค เป็นต้น แต่จากสถิติและการศึกษาค้นคว้าพบว่า มะเร็งปากมดลูกมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาหรือเชื้อเอชพีวี (Human papilloma virus – HPV ) บริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก (รวมทั้งอวัยวะเพศภายนอก) อย่างไรก็ตาม แม้การติดเชื้อไวรัส HPV ที่ปากมดลูกเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดในการเกิดมะเร็งปากมดลูก แต่ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสนี้แล้วจะเป็นมะเร็งปากมดลูก

เชื้อ HPV แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
-กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High risk HPV) มี 13 ชนิด คือ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 68
-กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low risk HPV) ได้แก่ 2, 3, 6, 11, 42, 43, 44 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูก

ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูก

ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายหญิง ได้แก่
  • การมีคู่นอนหลายคน ความเสี่ยงสูงขึ้นตามจำนวนคู่นอนที่เพิ่มขึ้น 
  • การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย 
  • การสูบบุหรี่ 
  • มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ เริม ซิฟิลิส และหนองใน เป็นต้น 
  • การให้กำเนิดลูกหลายคน 
  • การกินยาคุมกำเนิด 
  • การมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ 
  • พันธุกรรม 
  • การขาดสารอาหารบางชนิด 
ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย เนื่องจากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงกล่าวได้ว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อเอชพีวี (ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะไม่มีอาการหรือตรวจไม่พบเชื้อ) แม้เพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีและเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชาย ที่อาจทำให้ผู้หญิงเป็น มะเร็งปากมดลูก ได้แก่
  • ฝ่ายชายเป็นมะเร็งองคชาติ 
  • ฝ่ายชายเคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก 
  • ฝ่ายชายเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 
  • ฝ่ายชายผ่านประสบการณ์ทางเพศตั้งแต่อายุน้อยหรือมีคู่นอนหลายคน